ดอกพุด พื้นเมืองไทย

เนื่องจากคนไทยยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในการเรียกชื่อต้นไม้ โดยทั่วไปเป็นความเข้าใจกันเองโดยดูจากภาพรวม นับได้ว่าเป็นการเรียกโดยรวมๆ แล้วยอมรับกันอยู่ในคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งยังไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับ จึงมีความคิดในการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปโดยลำดับ ดังเช่นคำว่า “ดอกพุด” คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นดอกไม้สีขาวหรือดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ขนาดใหญ่พอประมาณ แต่ไม่ระบุชัดเจนว่า ดอกใหญ่แค่ไหน มีกี่กลีบ หรือว่ามีลักษณะเด่นที่จะบ่งบอกได้ว่า นี่คือลักษณะของต้นพุดและดอกพุด ในขณะที่การจำแนกพรรณไม้ทางพฤกษศาสตร์มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า ดอกพุด อยู่ใน สกุลพุด (Genus Gardenia) หรือบางคนเรียกสกุลคำมอก อยู่ในวงศ์เข็ม (Family Rubiaceae) และมีลักษณะตามที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงจะเรียกได้ว่าดอกพุด

เป็นธรรมดาของคนไทย เมื่อไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แล้วมีดอกไม้ที่ลักษณะใกล้เคียงกับพุด ก็เหมาเรียกว่า เป็นดอกพุดไปด้วย ทั้งๆ ที่อยู่ในสกุลอื่นๆ ที่มิใช่ Gardenia อาทิเช่น พุดพิชญา (Wrightiaantidysenterica (L.) R. Br.) พุดตาน (Hibiscus mutabilis L.) พุดตะแคง (Brunfelsiaamericana L.) พุดจีบ (Tabernaemontanadivaricata (L.) R. Br. ex Roem.&Schult.) พุดฝรั่ง (Tabernaemontanapandacaqui Lam.) พุดเศรษฐีสยาม (Tabernaemontanapachysiphon Stapf) พุดสามสี (Brunfelsiauniflora (Pohl) D. Don) พุดแตรงอน (Euclinialongiflora Salisb.) พุดทุ่ง (Holarrhenacurtisii King & Gamble) พุดราชา (Clerodendrumschmidthii C. B. Clarke) พุดชมพู (Kopsiarosea D. J. Middleton) พุดก้านยาว (Tabernaemontanapeduncularis Wall.) พุดโกเมน (Rothmannialongiflora Salisb.) พุดหอม (Rothmanniauranthera (C.E.C. Fisch.) พุดหอมไทย (Rothmanniathailandica Tirveng.) เมื่อคนรุ่นก่อนตั้งชื่อเรียกผิด ทำให้คนรุ่นต่อมาเรียกชื่อตามและเข้าใจผิดตามไปด้วย

ดังนั้น มารู้จักดอกพุดแท้ๆ ตามหลักการจำแนกพรรณไม้ที่อยู่ในสกุล Gardenia กันดีกว่า โดยทั่วไปมีอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๔๐ ชนิด และเป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ ๑๓ ชนิด สกุลนี้เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม ส่วนต่างๆ เมื่ออ่อนมียางติดอยู่ ใบออกตรงข้ามเป็นคู่ มีก้านใบ เนื้อใบหนาเหนียวคล้ายหนังหรือยาง ปลายหูใบมีน้ำยางสีเหลืองติดอยู่ มีดอกเดี่ยวที่ปลายยอด โคนกลีบดอกเป็นหลอด ดอกหอม มีส่วนต่างๆ ของดอกอย่างละ ๕-๑๐ สมบูรณ์เพศ ดอกสีขาวหรือเหลือง ผลมีเปลือกหนา เนื้อในผลแยกเป็น ๕-๘ ส่วน เมล็ดแบน

เมื่อรู้จักลักษณะโดยรวมของสกุลนี้แล้ว คราวนี้มารู้จักดอกพุดพื้นเมืองจริงๆ กันบ้าง

รักนา (Gardenia carinata Wall. exRoxb.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น ตะบือโก บาแยมาเดาะ พุดน้ำบุศย์ ระนอ ระไน รัตนา เป็นไม้ต้นผลัดใบเล็กน้อย สูง ๔-๗ เมตร ทรงพุ่มกลมแน่น ใบรูปหอกติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกเดี่ยวออกปลายยอดขนาด ๖-๙ เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๗ กลีบ ขอบกลีบหยักเว้าคล้ายหัวลูกศร เริ่มบานสีขาวต่อมาเปลี่ยนเป็นเหลืองนวลและท้ายสุดสีแสด ผลรูปทรงกลมรี เมื่อสุกสีเหลือง พบขึ้นตามป่าดิบชื้นในภาคใต้ ระดับ ๑๐๐-๔๐๐ เมตร รวมทั้งในประเทศมาเลเซีย สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง ออกดอกพร้อมกันเต็มต้นในช่วงเดือนมีนาคม รักนาเป็นพรรณไม้ในสกุลนี้ที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่สุด มีขนาดใบและดอกขนาดใหญ่ที่สุด ดอกที่ใกล้โรยมีสีเข้มจัดจ้านมากที่สุด

เป็นเรื่องแปลกที่รักนา พืชพื้นเมืองของไทย กับพุดน้ำบุศย์ ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศ มีชื่อพฤกษศาสตร์เหมือนกันคือ Gardenia carinata Wall. exRoxb. เนื่องจากมีรูปทรงดอกที่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มีขนาดทรงพุ่ม ใบ ดอกและผลแตกต่างกันมาก

พุดผา (Gardenia collinsiae Craib) มีชื่อท้องถิ่น เช่น ข่อยด่าน ข่อยหิน พุด เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๓-๕ เมตร ใบอยู่ชิดกันทำให้ดูเป็นกระจุกใกล้ปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่งและง่ามใบ ขนาด ๕-๖ เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕-๖ กลีบสีขาว ต่อมาเป็นสีเหลืองนวล กลิ่นหอม ผลรูปกลม ขนาด ๑.๕-๒ เซนติเมตร ผลสุกสีน้ำตาล สภาพนิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน ในภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตก ระดับ ๕๐๐-๗๐๐ เมตร สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง ออกดอกพร้อมกันเต็มต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เด่นสะดุดตาสีขาวโพลน และออกทะยอยได้อีกจนสิ้นฤดูฝน

คำมอกน้อย (Gardenia obtusifolia Roxb. exHook.f.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น กระบอก กระมอบ ไข่เน่า คมขวาน ฝรั่งโคก พญาผ่าด้าม พุดนา สีดาโคก เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๓-๕ เมตร เรือนยอดโปร่ง ใบรูปไข่ ปลายใบมน ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่ง ดอกบานขนาด ๕-๖ ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นเหลือง ผลทรงกลมสีน้ำตาลแกมเขียว สภาพนิเวศ พบตามป่าเบญจพรรณและเขาหินปูน ทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก สถานภาพเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก การขยายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือวิธีการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการอื่นๆ ได้ผลต่ำมาก ต้นคำมอกน้อยที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งจะผลัดใบและออกดอกดกเต็มต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เด่นสะดุดตามากในป่าโปร่งและส่งกลิ่นหอมแรง

คำมอกหลวง (Gardenia sootepensis Hutch.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น ไข่เน่า คำมอกช้าง ผ่าด้าม ยางมอก ใหญ่ สะแล่งหอมไก๋ หอมไก๋ เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๕-๘ เมตร ใบรูปไข่กว้างหรือรูปรี จุดเด่นตรงตายอดจะมีน้ำยางเหนียวสีเหลืองหรือสีส้มติดอยู่ ดอกเดี่ยว โคนกลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ ดอกมีขนาด ๖-๘ เซนติเมตร เมื่อแรกแย้มมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ผลทรงกลมหรือรูปไข่ ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม นิเวศวิทยา พบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในระดับใกล้น้ำทะเลถึง ๙๐๐ เมตร สถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก. สามารถ ขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง ต้นคำมอกหลวงออกดอกดกเต็มต้นในช่วง เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เด่นสะดุดตามากในป่าโปร่ง และส่งกลิ่นหอมแรง ต้นที่ขึ้นอยู่ในที่แห้งแล้งจะผลัดใบและออกดอกดกมาก ในปัจจุบันมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ออกดอกได้ตลอดปี

ผ่าด้าม (Gardenia coronaria Buch.-Ham.) มีชื่อ ท้องถิ่น เช่น คงคา คำมอก ชันยอด ปันยอด พุดน้ำ พุดใหญ่ อ้างว้าง เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๒ เมตร ใบรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลมสั้น ดอกเดี่ยว โคนกลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น ๗ กลีบ ดอกมีขนาด ๖-๘ เซนติเมตร เมื่อแรกแย้มมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองผลรูปทรงกลมรี สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ ต้นผ่าด้ามออกดอกดกเต็มต้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม

สีดา (Gardenia griffithii Hook.f.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น ตะเกียง ปะลีตอ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๓ เมตร ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบรูปรีกว้าง ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่งสีขาว โคนกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๖ กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ เซนติเมตร ผลกลมแป้นสีเขียวสดปลายผลมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาวติดอยู่ เมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง มีกระจายพันธุ์ในป่าพรุภาคใต้และในประเทศมาเลเซีย สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม

ปัดหิน (Gardenia saxatilis Geddes) มีชื่อท้องถิ่น เช่น ข่อย ข่อยโคก ข่อยหิน พุดผา เป็นไม้พุ่มลำต้น แคระแกรน สูง ๑-๒ เมตร แตกกิ่งมากและเปลี่ยนเป็นหนามแข็งแหลมยาว ใบรูปไข่กลับ ปลายใบมน ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่งสีขาว โคนกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๖ กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ เซนติเมตร ผลกลมสีเขียวสดเมื่อผลสุกสีส้ม มีกระจายพันธุ์ในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย ชอบขึ้นตามซอกลานหิน การขยายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือวิธีการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการอื่นๆ ได้ผลต่ำมาก สำหรับผู้ที่ต้องการชมต้นปัดหินจำนวนมากในบริเวณกว้างขวาง ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองข่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีสวนปัดหินเพื่อการท่องเที่ยว

พุดสี (Gardenia tubifera Wall. exRoxb.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น กอนอบูเกะ จำปา พุดป่า เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง ๒-๓ เมตร เจริญเติบโตช้า ทรงพุ่มแผ่กลมและโปร่ง ใบรูปใบหอก ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๘ กลีบ เรียงเวียนซ้อนกันโดยไม่มีช่องโหว่ ขอบกลีบหยักเว้าคล้ายหัวลูกศร ดอกบานมีขนาด ๕-๖ เซนติเมตร สีเหลืองแล้วเปลี่ยนสีแสด ผลทรงกลมแป้นสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายผลมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดติดอยู่ เมื่อสุกสีเขียวอมเหลืองแล้วแตกเห็นเปลือกผลด้านในเป็นสีแสด กระจายพันธุ์อยู่ตามที่ชื้นแฉะ ริมหนองในภาคตะวันออกและในภาคใต้จนถึงมาเลเซีย สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง พุดสีออกดอกเต็มต้นเกือบตลอดปี

พุดภูเก็ต (Gardenia thailandicaTirveng.) มีชื่อท้องถิ่น เช่น พุดป่า รักนา เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๓-๕ เมตร ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบรูปใบหอก ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ เซนติเมตร สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลกลมสีเขียวสดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา ตรังและสตูล ชอบขึ้นใกล้ชายทะเล สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง พุดภูเก็ตออกดอกเต็มต้นในช่วง ดือนเมษายนและทะยอยออกได้ตลอดปี ผู้ที่ไปเยือนจุดชมวิวบนหาดกะตะของจังหวัดภูเก็ตในเดือนเมษายน จะชื่นชมต้นพุดภูเก็ตที่ออกดอกดกเต็มต้น ทั้งสีขาว สีเหลือง พร้อมทั้งส่งกลิ่นหอมไปไกล

พุดน่านเจ้า (Gardenia sp.) เป็นพุดชนิดใหม่ที่ยังรอรายงานการตั้งชื่อ พบในจังหวัดน่าน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ระดับสูง เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง ๔-๖ เมตร ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบรูปใบหอก ดอกเดี่ยวออกปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ ดอก ขนาด ๔-๕ เซนติเมตร สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลทรงกลมรี ปลายผลมีครีบยาว สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง พุดน่านเจ้าออกดอกเต็มต้นในช่วงเดือนมีนาคม

พรรณไม้ที่อยู่ในสกุลที่ใกล้เคียงกับ Gardenia คือ สกุลพุดน้ำ (Genus Kailarsenia) มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทนน้ำท่วม ใบเรียวเล็ก ออกตรงข้ามเป็นคู่ออกสลับตั้งฉาก ก้านดอกยาว กลีบดอกสีขาว ๖ กลีบ ผลรูปทรงรี เปลือกผลมี ๖ ครีบ เช่น ต้นอินถวาน้อย (Kailarsenialineata) ที่ขึ้นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในประเทศลาว ต้นพุดน้ำ (K. campanula) ที่อยู่ในภาคใต้ ต้นพุดหนอง (K. godefroyana) ที่อยู่ในภาคตะวันออก ต้นพุดป่า (K. hygrophila) ที่อยู่ในภาคเหนือ

พรรณไม้ในสกุลพุดพื้นเมืองและสกุลใกล้เคียงได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งไม้ดอกกระถางและปลูกประดับลงแปลงกลางแจ้ง เหมาะสมต่อการจัดงานภูมิทัศน์ ไม้ดอกเหล่านี้ได้รับความนิยมนำไปปลูกประดับในต่างประเทศเช่นกัน พบได้ตามบ้านพัก สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ สำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น พบว่าเนื้อไม้ของพุดจะให้สีย้อมเป็นสีเหลือง ส่วนการนำเนื้อไม้พุดมาทำหวี กล่าวกันว่าเมื่อใช้หวีแล้วเส้นผมไม่แตกปลาย

ในปัจจุบัน พุดพื้นเมืองของไทยมีชื่อที่เรียกเป็นทางการตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๗ อย่างไรก็ตาม พุดแต่ละชนิดยังมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ และซ้ำกันไปมาในระหว่างชนิด สร้างความสับสนให้คนไทยเป็นอย่างมาก แต่การเรียกชื่อพรรณไม้ของชาวต่างชาติและนักวิชาการของไทยที่ใช้ชื่อพฤกษศาสตร์เป็นเกณฑ์ จะแก้ปัญหานี้ได้หมดสิ้น

พรรณไม้ในสกุล Gardenia จากต่างประเทศที่มีการนำเข้ามาปลูกประดับในประเทศไทย นับวันก็จะมีเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ อันเนื่องมาจากความสวยงามของทรงพุ่มที่เหมาะสมต่อการจัดงานภูมิทัศน์ ความสวยงามของดอกและมีกลิ่นหอมชวนดม จนถึงปัจจุบันมีหลายชนิด

แหล่งที่มา

ความรู้คือประทีปฉบับ 1/2560